วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญ และหลักการของกระบวนการสร้างเสริม และดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

1.1 ความสำคัญ และหลักการของกระบวนการสร้างเสริม และดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย
มนุษย์จะดำรงอยู่ได้ด้วยการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย โดยแบ่งออกเป็นระบบต่างๆ ซึ่งแต่ละระบบต้องพึ่งพาและทำงานสัมพันธ์กัน หากมีอวัยวะหรือระบบใดทำงานผิดปกติ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
1. รักษาอนามัยส่วนบุคคล
2. บริโภคอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสม
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. พักผ่อนให้เพียงพอ
5. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
6. หลีกเลี่ยงอบายมุขและสิ่งเสพติดให้โทษ และรู้จักป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์
7. คอยตรวจเช็คร่างกาย และดูแลเอาใจใส่การทำงานของอวัยวะที่สำคัญ เช่น ตา หู จมูก ผิวหนัง ฯลฯ

ระบบประสาท

1.2 ระบบประสาท (Nervous System)


                ระบบประสาท คือ ระบบที่ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาททั่วร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันในการควบคุมการทำงานและการรับความรู้สึกของอวัยวะทุกส่วน รวมถึงความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และความทรงจำต่างๆ
                1.2.1 องค์ประกอบของระบบประสาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย
1.   ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ประกอบด้วย สมองและไขสันหลัง
สมอง (brain) เป็นอวัยวะที่สำคัญ บรรจุอยู่ในกะโหลกศรีษะ ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความจำ ความฉลาด และเป็นศูนย์กลางควบคุมระบบประสาททั้งหมด
ไขสันหลัง ทำหน้าที่รับกระแสประสาทจากส่วนต่างๆ ของร่างกายส่งต่อไปยังสมอง และรับกระแสประสาทตอบสนองจากสมองเพื่อส่งไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกาย และยังควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้า (reflex action) อีกด้วย
2.   ระบบประสาทส่วนปลาย (peripheral nervous system) ประกอบด้วย เส้นประสาทสมอง เส้นประสาทไขสันหลัง และประสาทระบบอัตโนมัติ ระบบประสาทส่วนปลายทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกจากส่วนต่างๆของร่างกายเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางไปยังอวัยวะปฏิบัติงาน
1.2.2 การทำงานของระบบประสาท
                ระบบประสาทเป็นระบบที่ทำงานประสานกันกับระบบกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นยังรับกระแสประสาทจากอวัยวะภายในต่างๆ และส่งคำสั่งกลับไปควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด อัตราการหายใจ และระบบอื่นๆให้ทำงานปกติ
1.2.3 การบำรุงรักษาระบบประสาท มีแนวทางดังนี้
1.   ระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณศรีษะ
2.   ระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางสมอง
3.   หลีกเลี่ยงยาชนิดต่างๆ ที่มีผลต่อสมอง รวมทั้งยาเสพติดและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
4.   พยายามผ่อนคลายความเครียด
5.   รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ระบบสืบพันธุ์

1.3 ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive System)
                ระบบสืบพันธุ์ เป็นระบบที่เกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนของสิ่งมีชีวิตให้มากขึ้นตามธรรมชาติ และเป็นการทดแทนสิ่งมีชีวิตที่ตายไป เพื่อให้ดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ ซึ่งการสืบพันธุ์ของมนุษย์เป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ต้องอาศัยอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายและเพศหญิง
                1.3.1 อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย ประกอบด้วยส่วนต่างๆดังนี้
1.   อัณฑะ (testis) ทำหน้าที่สร้าตัวอสุจิ (sperm) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย และสร้างฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน (testosterone)
2.   ถุงหุ้มอัณฑะ (scrotum) ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะ (ต่ำกว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส)ในการสร้างตัวอสุจิ
3.   หลอดเก็บตัวอสุจิ (epididymis) ทำหน้าที่เก็บตัวอสุจิที่เจริญเต็มที่ก่อนที่จะส่งผ่านไปยังหลอดนำตัวอสุจิ
4.   หลอดนำตัวอสุจิ (vas deferens) ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ
5.   ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (seminal vesicle) ทำหน้าที่สร้างอาหารเพื่อใช้เลี้ยงตัวอสุจิ และสร้างของเหลวมาผสมกับตัวอสุจิเพื่อให้เกิดสภาพที่เหมาะสมสำหรับตัวอสุจิ
6.   ต่อมลูกหมาก (prostate gland) ทำหน้าที่หลั่งสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ เข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อทำลายฤทธิ์กรดข้างใน
7.   ต่อมคาวเปอร์ (cowper’s glands) ทำหน้าที่หลั่งสารไปหล่อลื่นต่อปัสสาวะในขณะที่เกิดการกระตุ้นทางเพศ และยังทำหน้าที่ชำระล้างกรดของน้ำปัสสาวะที่เคลือบท่อปัสสาวะ ทำให้ตัวอสุจิไม่ตายก่อนในขณะที่เคลื่อนที่ออกมา


                1.3.2 อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
1.   รังไข่ (ovary) ทำหน้าที่ ผลิตไข่ (ovum) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ เอสโทรเจน (estrogen) และโพรเจสเทอโรน (progesterone)
2.   ท่อนำไข่ (oviduct) หรือปีกมดลูก (fallopian tube) เป็นบริเวณที่อสุจิจะเข้าปฏิสนธิกับไข่ ทำหน้าที่เป้นทางผ่านของไข่ที่ออกจากรังไข่เข้าสู่มดลูก
3.   มดลูก (uterus) ทำหน้าที่เป้นที่ฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว และเป็นที่เจริญเติบโตของทารกในครรภ์
4.   ช่องคลอด (vagina) ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของตัวอสุจิเข้าสู่มดลูก และเป็นทางออกของทารกเมื่อครบกำหนดคลอด
                1.3.3 การบำรุงรักษาระบบสืบพันธุ์ มีแนวทางดังนี้
1.   รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนทั้ง 5 หมู่
2.   ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3.   งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
4.   พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เคร่งเครียด และทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
5.   ทำความสะอาดร่างกายอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ
6.   สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น และอย่าให้รัดแน่นจนเกินไป
7.   ไม่ใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเครื่องนุ่งห่มร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจติดเชื้อบางชนิดได้
8.   ไม่สำส่อนทางเพศ งดเว้นการเปลี่ยนคู่นอน
9.   เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับอวัยวะเพศ ควรรีบปรึกษาแพทย์

ระบบต่อมไร้ท่อ

1.4 ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System)
                ระบบต่อมไร้ท่อ เป็นระบบที่ผลิตสารที่เรียกว่า ฮอร์โมน โดยจะลำเลียงสารเหล่านั้นไปตามกระแสเลือดไปสู่อวัยวะเป้าหมาย เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆคู่กับระบบประสาท ฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากต่อมไร้ท่อจะต้องมีปริมาณพอดีกับร่างกาย ถ้ามีปริมาณมากหรือน้อยเกินไปจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคคอพอก ฯลฯ

                1.4.1 ต่อมไร้ท่อในร่างกาย
1.   ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมไปถึงควบคุมการทำงานของต่อไร้ท่ออื่นๆ และควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์
2.   ต่อมหมวกไต (adrenal gland)ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอะดรีนาลินที่จะกระตุ้นร่างกายทุกส่วนให้เตรียมพร้อม และสร้างฮอร์โมนควบคุมการเผาผลาญอาหาร ตลอดจนฮอร์โมนควบคุมการดูดซึมเกลือที่ไต
3.   ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) ทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า ไทรอกซิน ซึ่งมีความสำคัญต่อการควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายให้ดำเนินไปได้อย่างเหมาะสม
4.   ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid gland) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนพาราฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมในเลือดและรักษาความเป็นกรดเป็นด่างในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
5.  ต่อมที่อยู่ในตับอ่อน (islets of langerhans) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน ที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลของร่างกาย หากขาดฮอร์โมนชนิดนี้ จะทำให้เป็นโรคเบาหวาน
6.  รังไข่ (ovary) ในเพศหญิง และอัณฑะ (testis) ในเพศชาย โดยที่รังไข่ทำหน้าที่ผลิตไข่และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ส่วนอัณฑะทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิและสร้างฮอร์โมนเพศชาย
7.  ต่อมไทมัส (thymus gland) ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
                1.4.2 การบำรุงรักษาระบบต่อมไร้ท่อ มีแนวปฏิบัติดังนี้
1.   เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
2.   ดื่มน้ำประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน
3.   ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4.   ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
5.   หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ
6.   พักผ่อนให้เพียงพอ